สรุป “ไครนอยด์” แน่หรือ?

หลังจากกลายเป็นข่าวสร้างความสนใจแก่ประชาชนจำนวนมาก และได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมาแล้ว พบว่าซากดึกดำบรรพ์ตัวดังกล่าว คือ กลุ่มสัตว์ทะเลที่ชื่อว่า ไครนอยด์ (Crinoid) หรือพลับพลึงทะเล ตามที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วในเบื้องต้นครับ พบส่วนของลำต้น หรือ crinoid stem กระจายอยู่ทั่วไปในเนื้อหินปูน และชิ้นส่วนของราก หรือ holdfast ที่มีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ 1 ชิ้น อายุเพอร์เมียน หรือประมาณ 285 - 250 ล้านปี ซึ่งได้อายุจากซากดึกดำบรรพ์ฟูซูลินิด หรือคดข้าวสาร ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ดัชนี (Index fossil) ที่พบในพื้นที่ใกล้เคียง

จากชิ้นส่วนซากที่แตกหักสามารถบ่งบอกได้ว่าซากดึกดำบรรพ์และชั้นหินสะสมตัวอยู่ในน้ำทะเลตื้นที่มีกระแสน้ำค่อนข้างรุนแรง (นึกสภาพตามแนวชายฝั่งปัจจุบัน) ทำให้เกิดการแตกหักได้ง่าย จึงไม่พบตัวซากที่สมบูรณ์ทั้งตัว เหมือนกับของต่างประเทศ (ที่สะสมตัวในน้ำที่นิ่งกว่า จึงคงสภาพไว้ได้ทั้งตัว)

สำหรับในประเทศไทย ด้วยความที่เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่พบได้ทั่วไปในหินปูน มีช่วงเวลาที่พบยาวนาน ตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียน (485 ล้านปีก่อน) จนถึงปัจจุบัน มีวิวัฒนาการและรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีชิ้นส่วนที่แตกหัก ไม่สมบูรณ์ จึงไม่ค่อยมีความสำคัญในเชิงวิชาการมากนัก หรือบ่งบอกอะไรได้ไม่มาก แต่อาจเป็นเพราะมีรูปร่างแปลกตา และไม่เคยพบในพื้นที่มาก่อน จึงทำให้มีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

เบื้องต้นกรมทรัพยากรธรณีได้เข้าตรวจสอบและประเมินในแหล่งที่พบแล้ว ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 2551 จึงให้เจ้าของพื้นที่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ