ศาสตราจารย์นักวิจัย


                 ผู้ที่เป็นแฟนประจำของข่าวสารการธรณีคงจะได้เคยอ่านข้อเขียนของท่าน รองศาสตราจารย์ไสว มาบ้างแล้ว เพราะท่านเป็นนักเขียนผู้มีความสามารถและได้กรุณาให้การสนับสนุนข่าวสาร มาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี มีเรื่องลงพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง


                 รองศาสตราจารย์ไสว สุนทโรวาท หรือที่ชาวทรัพยากรธรณีนิยมเรียกว่า อาจารย์ไสว เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2470 ที่อำเภอ ยานนาวา กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาทางวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวธรณี (Geological Engineer) จากคาร์โลราโด สกูลออฟไมย์ส และจบปริญญาโท สาขาธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัย คาร์โลราโด ปี 2499 เริ่มรับราชการตำแหน่ง อาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2500 จนกระทั่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ระดับ 9 ที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลการเรียนยอดเยี่ยมมาตั้งแต่เด็ก คือ ครองที่ 1 มาตลอด


                  ผลงานที่ท่าน รศ.ไสว ได้รับรางวัลที่ 1 จากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2525 เป็นเงิน 3 แสนบาท คือเรื่อง "การประยุกต์ทฤษฎีกำเนิดน้ำมันฝางในการสำรวจน้ำมัน ในแอ่งเทอร์เซียรี่ของประเทศไทย" เป็นทฤษฎีที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2507 ซึ่งยังไม่มีการพบแหล่งน้ำมันใหญ่ที่ลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร แต่น่าเสียดายในขณะนั้นไม่มีผู้ใดสนใจ จากการตั้งทฤษฎีและทำนายของ รศ.ไสว ตั้งแต่ครั้งนั้น เป็นผลให้บริษัทไทยเซลล์ได้ประสบผลสำเร็จในการสำรวจหาน้ำมันในแอ่งเทอร์เซียรี่ กำแพงเพชร ที่ลานกระบือในปัจจุบันนี้เอง


                 เมื่อปี 2525 รศ.ไสว เคยได้ ได้รับรางวัลเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์เป็นเงิน 3 แสนบาท จากสภาวิจัยแห่งชาติมาแล้ว ในผลงานเรื่อง "การคิดค้นหาวิธีสำรวจใหม่ทางธรณีฟิสิกส์ (ทฤษฎีเตาขนมครก)" เพื่อใช้กับแหล่ง แร่โพแทชในภาคอีสานของไทย โดยที่จุดมุ่งหมายให้มีราคาถูกกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีทางธรณีเคมี ซึ่งเป็นที่รองรับกันมานานแล้ว การทดสอบปรากฎว่าได้ผลเป็นที่ น่าพอใจในบริเวณ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ , อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้มีบริษัทใหญ่จากต่างประเทศยื่นขอสิทธิสำรวจและ ปัญหาแหล่งแร่บริเวณดังกล่าวไว้แล้ว


                  ผลงานของ รศ.ไสว ดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้ภาคอีสานมีโอกาสพัฒนาทางเศรษฐกิจให้ก้าวขึ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากแร่โพแทชเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของปุ๋ยเคมี หากสามารถพัฒนาแหล่งแร่โพแทชในภาคอีสาน ขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ยได้ ก็จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมาก และ ช่วยให้คนภาคอีสานมีแหล่ง ทำงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น



                  ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรม เหมืองแร่ที่ รศ.ไสว ฝากไว้คือ


               ที่ผ่านมาองค์การเหมืองแร่ไทยยังใช้วิชาธรณีน้อยเกินไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าเหมืองส่วนใหญ่เป็นเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งแร่ส่วนมากหลุดพลัดออกมาจากแหล่งกำเนิดเดิม พูดง่ายๆ คือ ธรรมชาติช่วยทำเหมืองให้แล้วกว่าครึ่ง ดังนั้นความต้องการใช้วิชาธรณีวิทยาจึงดูเนือยๆไป นอกจากนี้แร่เหล่านี้อยู่ไม่ลึกจากผิวดินนัก การขุดเจาะสำรวจหรือหาปริมาณสำรองทำได้ไม่ยาก บางครั้งแทบไม่ต้องใช้วิชาธรณีวิทยาเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นจริงในประเทศที่อาศัยดีบุกจากลานแร่เป้นหลัก เช่นประเทศมาเลเซีย แต่ภายหลังแร่ใกล้ๆ ผิวดินค่อยๆหมดไป ต้องหาลึกลงไปหรือหาจากที่ซึ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อน ความจำเป็นที่จะต้องใช้ธรณีวิทยาก็มีมากขึ้น ประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มไปทางนี้ ดังจะเห็นได้จากบริษัทเซลล์ ซึ่งได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาไทยที่ทำการสำรวจแร่ดีบุกด้วยเงินเดือนสูง รวมทั้งเหมืองแร่ที่ต้องทำให้หินแข็งเป็นแบบสายแร่ ก็มีนักธรณีวิทยาประจำอยู่หลายแห่ง เช่น เหมืองวุลแฟรมฟลูออไรด์ ตะกั่ว สังกะสี ฯลฯ อย่างไรก็ตามเมื่อภาวะเศรษฐกิจ ดีขึ้น หวังว่าอาชีพของนักธรณีวิทยาในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ คงจะสดใสซาบซ่าขึ้น แม้จะไม่ถึงขนาดโชติช่วงชัชวาลก็ตาม