ความเป็นมาของภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


                 เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณธนิต สุวรรณคิริ ได้มีหนังสือถึงผู้เขียนขอให้เล่าเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับภาควิชาธรณีวิทยาในฐานะคนเก่าคนแก่ ความจริงผู้เขียนไม่เคยลองเขียนเรื่องอดีตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย ผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา บัดนี้เห็นว่าควรจะถือโอกาสที่ภาควิชาฯฉลอง 25 ปี เขียนประวัติความเป็นมาของภาควิชาฯ ไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงในอนาคต เพราะว่าผู้ใกล้ชิดจริงๆ ขนาดคลุกคลีตีโมงมากับภาควิชาฯนั้น บัดนี้ก็ล้มหายตายจากไปหลายท่านแล้ว แม้แต่ผู้เขียนเองก็ต้องเปิดหมวกอำลาชีวิตธรณีในไม่ช้า “อย่าคิดว่าอดีตก็คือปัจจุบัน” นักธรณีวิทยาที่มีความคิดเช่นนี้จะก้าวไปไม่ได้ไกลนักทางวิชาการด้านธรณีวิทยาผู้เขียนเคยถามนักธรณีวิทยาคนหนึ่งในที่ประชุมวิชาการที่กรมทรัพยากรธรณีว่า “มีเหตุผลอย่างไรที่คิดว่าเทือกขุนตาลเป็นภูเขาอย่างที่เห็นเวลานี้ ในยุคคาร์บอนนิเฟอรัสหรือเพอร์เมียน” เขาตอบไม่ได้เพราะมโนภาพของเขาก็คือขุนตานในปัจจุบัน แต่กาลเวลามันห่างกันเป็นร้อยๆ ล้านปี


                 “ ชีวิตคือความพอดี ” เป็นคำกล่าวอันหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ หมายถึงเหตุการณ์ที่จำเพาะจะต้องเกิดขึ้นมาในตอนหนึ่งชีวิตเราและมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายตามมา ชักตัวอย่าง เช่น ร้อยวันพันปีไม่เคยขึ้นเครื่องบิน พอขึ้นไปครั้งแรกก็เผอิญเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุตกลงมา หรือไม่คิดจะซื้อลอตเตอรี่ แต่เผอิญต้องจำใจซื้อเพราะสงสารผู้ขายแล้วเกิดถูกรางวัลที่หนึ่งดังนี้เป็นต้น ชีวิตของผู้เขียนก็ทำนองเหมือนกัน เมื่อตอนจบปีที่ 1 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ไม่เคยมีความคิดจะเป็นนักธรณีวิทยาและไม่เคยได้กลิ่นไอของวิชานี้เลย จุดหมายคิดจะไปทางวิศวกรรมไฟฟ้ามากกว่า เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ในเวลานั้นแผนกวิชาการวิศวกรรมเหมืองแร่และธรรีวิทยาเหมืองแร่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ปิดตัวเองหลายมาหลายปีแล้ว เพราะไม่มีคนเรียน แต่เหตุไฉนพรหมลิขิตถึงหักเหให้ผู้เขียนกลายมาเป็นนักธรณีวิทยาไปได้ นี่แหละชีวิตคือความพอดีละหากผู้เขียนไม่สิบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนต่อต่างประเทศได้ในปี 2492 แล้วไซร้ จะไม่มีวันเป็นนักธรณีวิทยาได้เลย ความจริงสอบได้รับดับที่ต้นๆ ทีเดียวมีสิทธิ์จะเลือกสาขาวิชาต่างๆ(ตอนนั้นไม่มีแพทยศาสตร์หรือวิศวกรรมไฟฟ้าในตารางเลือก) ได้ก่อนคนอื่นๆ แต่แล้วบุญหรือกรรมเวรที่ชักนำให้ผู้เขียนโยนพวงมาลัยเสี่ยงรักให้กับธรณีวิทยาและอยู่กันมายืดยาวจนกระทั้งทุกวันนี้ มิได้เปลี่ยนอาชีพออกไปหาบเต้าทึงหรือปาท่องโก๋ขายประการใด คน โบราณเขาถึงว่า “คู่แล้วไม่แคล้วกัน”


                 ผู้เขียนกลับจากสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนเมษายน ปี 2500 กึ่งพุทธกาลพอดีหลังจากใช้เวลา 8 ปีศึกษาขั้นปริญญาตรีและโทที่ Colorado School of Mines และUniversity of Colorado แถมท้ายด้วยการฝึกงานที่ U.S. Geological Survey ความจริงผู้เขียนเคยขอทำปริญญาเอกต่อตั้งแต่ครั้งแรกที่จบ Colorado School of Mines ใหม่ๆ แต่ด้วยเหตุผลกลใดซึ้งก็ยังมืดมนมาจนถึงทุกวันนี้ เขา (ไม่มีใครยอมรับเมื่อไปไต่ถามเอาความจริงหลังจากกลับมาแล้ว ตอบผ่าน ก.พ. ปฏิเสธเพียงแต่อนุมัติให้ทำปริญญาโทและฝึกงานเท่านั้น นับว่า “ถูกหวย” ตั้งแต่ครั้งเป็นนิสิตยังไม่ได้เข้ารับราชการเลย ทำไมถึงต้องเป็นเรา!


                 พอกลับจากนอกก็ได้เรื่องอีกพอดี ต้องตกเข้าไปอยู่ในสถานะคล้ายๆ ถูกบีบด้วยคีมหรือปากคีมจากส่องคณะใหญ่ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาก็ดีหรือจากประสบการณ์การในฐานะที่เคยเป็นนิสิตมาก่อนก็ดี พอจะกล่าวได้ว่าไม่ค่อยจะญาติดีกันนัก ผู้อ่านอาจจะงงในตอนนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ แต่ถ้าติดตามต่อไปจะเข้าใจเอง ในปี 2500 เมื่อผู้เขียนได้รับเข้าราชการเป็นอาจารย์ตรี (ในสมัยนั้นเริ่มต้นด้วยชั้นตรีทั้งนั้นไม่ว่าจะจบปริญญาอะไรมา) แผนกวิชา (ในขณะนั้น) วิศวกรรมเหมืองแร่และธรณีวิทยาเหมืองแร่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีเพียงนิสิตวิศวกรรมเหมืองแร่เท่านั้น ส่วนนิสิตธรณีวิทยาเหมืองแร่ไม่มีคนเลือกเรียนมาตั้งแต่ปี 2494 แล้ว แต่ถึงจะไม่มีนิสิตธรณีเหมืองแร่ แต่ก็ต้องสอนวิชาธรณีวิทยาในแขนงต่างๆ ถึง 6 วิชาต่างๆ กันให้แก่นิสิตเหมืองแร่ปีที่ 3 และ 4 วิชาเหล่านี้ได้แก่ Physicai Geoiogy , Mineraiogy , Structural Geoiogy, Petrology , Mineral Deposits และ Economic Geology พูดง่ายๆ รับเหมาสอนวิชาเกี่ยวกับธรณีวิทยาหมดทุกวิชาในแผนกวิชา ฉะนั้นชั่วโมงสอนจึงมากมายในสัปดาห์หนึ่งถึง 14 ชั่วโมง รวมทั้งปาฐกถาและปฏิบัติการ อาจารย์ประจำที่ทำการสอนก็มี อาจารย์ เป้า ขำอุไร (ซึ่งลาจากราชการไปทำงานเอกชนในปีที่ผู้เขียนกลับมาถึงคือ 2500 ) อาจารย์ วรวิทย์ เงยไพบูลย์ อาจารย์ มนู วีรบุรุษ (ซึ่งกำลังเดินทางไปทำปริญญาเอกต่อ) และผู้เขียน ฉะนั้นในตอนกลางๆปี 2500 จึงเหลืออาจารย์ประจำเพียง 2 คนเท่านั้น คือ อาจารย์ วรวิทย์ และผู้เขียน ก็ว่ากันไปทำไงได้ แต่เงินเดือนไม่เคยได้ 2 ขั้นเลยตลอดที่อยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนกระทั้งออกไปเมื่อปี 2507 มิหนำซ้ำในช่วง 3 ปีแรกเงินเดือนอยู่กับที่ พระพรหมท่านเล่นกลอีกแล้ว


                 ในตอนกลางๆปี 2500 นี้เอง ผู้เขียนก็ได้ข่าวว่าจะมีการจัดตั้งแผนกวิชาธรณีวิทยาขึ้นมาใหม่ในคณะวิทยาศาสตร์พร้อมๆกับแผนกวิชาเคมีเทคนิค ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้จะเริ่มเปิดรับนิสิตเข้าเรียนในหลักสูตรเลยตั้งแต่ปีการศึกษา 2501 เป็นต้นไป ปัญหาที่จะต้องเผชิญหน้าย่างแน่นอนคือบุคลากร อุปกรณ์การสอนและตำรับตำรา ซึ่งทั้ง 3 ปัญหานี้เราต้องมาเริ่มต้นกันใหม่เลยทั้งหมด ผู้เขียนเป็นคนเดียวในมหาวิทยาลัย ที่จบทางธรณีวิทยาถึงขั้นปริญญาโทจากเมืองนอกในขณะนั้น แม้แต่ในกรมทรัพยากรธรณีเองก็ขาดผู้จบปริญญาขั้นสูงจากนอก จึงส่งนักธรณีวิทยาอาวุโส เช่น อาจารย์ สงบ อาจารย์ เกษตร อาจารย์ โพยม ฯลฯ ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ มีนักธรณีวิทยาจบจากต่างประเทศก็ต้องทำงานด้านบริหาร เช่น อาจารย์วิชา อาจารย์สมาน ในสถานะเช่นนี้ผู้เขียนแม้จะอยู่ต่างคณะ แต่ก็ถูกกระแสน้ำวนพัดพาเข้าร่วมวงกับเขาด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้นทั้งๆที่ภาระทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มาอยู่แล้วดังได้กล่าวถึงข้างต้นและเป็นปีแรกที่เข้าทำงานด้วย อันที่จริงธรณีวิทยาเหมืองแร่ยังคงมีอยู่แต่ในนาม แม้จะไม่มีนิสิตเลือกเรียนมาหลายปีแล้ว ผู้เขียนกลับไปช่วยเหลือเขาตั้งแผนกวิชาธรณีวิทยาขึ้นมาใหม่ ผู้คว่ำหวอดในวงราชการเขาจะพูดเตือนทันทีว่า “แล้วอย่าหาว่าไม่บอก” บทเรียนเหล่านี้ผู้เขียนค่อยๆเรียนรู้ขึ้นมาเองด้วยราคาแพงจากประสบการณ์ ในระยะหลังๆ เมื่อชีวิตราชการมาพอสมควรแล้ว


                  ความจริงความคิดริเริ่มจะจัดตั้งแผนกวิชาธรณีวิทยาขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ได้มีมาหลายปีแล้ว ก่อนผู้เขียนกลับมา ผู้ที่ริเริ่มก็คือ ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ อดีตคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ครั้นต่อคณะวิทยาศาสตร์เริ่มดำเนินแผนการจะเปลี่ยนหลักสูตรปริญญาตรีของคณะวิทยาศาสตร์จาก 4 ปี เป็น 5 ปี และใช้ระบบหน่วยกิตเป็นครั้งแรกในปี 2501 จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเสนอหลักสูตรใหม่ของธรณีวิทยาและเคมีเทคนิคเข้าไปด้วย ศาสตราจารย์ ดร.แถบ เคยร้องขอให้อาจารย์เป้า ขำอุไร ร่างหลักสูตรธรณีวิทยาขึ้นมา แต่มีเพียงรายชื่อวิชาและจำนวนหน่วยกิตเคร่าๆเท่านั้นพอเป็นโครง หลังจากอาจารย์เป้า ลาออกจากราชการแล้วก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าต่อไปอีกจนกระทั้งศาสตราจารย์ ดร. แถบ ได้มอบให้ผู้เขียนจัดทำขึ้นใหม่ให้มีรายละเอียดต่างๆรวมทั้งCourse Description เป็นภาษไทยและอังกฤษ เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยต่อไป ความจริงผู้เขียนมองไม่เห็นว่าทำไมจึงต้องเป็นหลักสูตร 5 ปี แทนที่จะเป็น 4 ปี นักธรณีวิทยาที่กรมทรัพยากรธรณีหรือแม้แต่ Prof. Klompe ที่เข้ามาอยู่แผนกวิชาธรณีวิทยาในปี 2502 ก็ไม่เห็นด้วย แต่ศาสตราจารย์ ดร.แถบ ชี้แจงให้ทราบว่าเพื่อให้คล้องจองกับหลักสูตรของแผนกวิชาอื่นๆ (อาจจะเกี่ยวข้องกับเงินเดือนของผู้จบปริญญาหลักสูตร 5 ปี ด้วยก็เป็นได้ – ผู้เขียน) อย่างไรก็ตามหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เลิกไปในระยะหลัง


              หลักสูตรที่ผู้เขียนร่างขึ้นนี้ (ดูหลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ที่แนบมา) กล่าวตามความจริงแล้ว ผู้เขียนมิได้มีศรัทธาเท่าไหร่นักเพราะตระหนักดีถึงบุคลากรอุปกรณ์การสอนและปฏิบัติการตลอดจนตำรับตำราที่จะต้องจัดหาในสมัยนั้น แต่ศาสตราจารย์ ดร.แถบ ท่านชี้แจงว่าแม้หลักสูตรจะยังปฏิบัติตามไม่ได้ครบในขณะนั้น แต่ก็จำเป็นต้องขึ้นเพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยในการขอเปิดแผนกวิชาธรณีวิทยา มิฉะนั้นจะเปิดแผนวิชาฯไม่ได้ต้องไปขอทีก่อน Prof. Klompe ที่เขามาในปี 2502 ได้ดัดแปลงแก้ไขหลักสูตรในปี 4 และ 5 เพื่อให้เหมาะสมกับบุคลากรที่มีอยู่ (ดูหลักสูตรที่เขียนด้วยลายมือของ Prof. Klompe เอง) และใช้เป็นแนวปฏิบัติจริงๆ


              เมื่อผ่านหลักสูตรไปได้แล้วก็จะมาเผชิญหน้ากับปัญหา บุคคลากร อุปกรณ์การสอนและปฏิบัติการ และตำรา ได้กล่าวแล้วว่าเราเราต้องเริ่มต้นใหม่หมด การศึกษาปี 2501 ซึ่งกะกันว่าจะทำให้ได้ตามแผนที่อยู่ไม่ไกลนักเพียงไม่กี่เดือน แต่ก่อนที่จะก้าวไปถึงการแก้ปัญหาข้างต้น ผู้เขียนขอแทรกเหตุการณ์สำคัญที่ช่วยให้การเปิดแผนกวิชาฯได้เร็วขึ้นคือ ความช่วยเหลือที่คณะวิทยาศาสตร์ได้รับจากสัญญาความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่าง จุฬา-เท็กซัส (เงินอุดหนุนมาจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือ USOM หรือ USAID ในปัจจุบัน) เดิมทีความช่วยเหลือนี้เป็นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่มาในระยะหลัง คณะวิทยาศาสตร์ด้วยการนำของศาสตราจารย์ ดร.แถบ ได้เจรจาขอมาช่วยทาง Basic Science ของคณะฯ ได้สำเร็จ แผนกวิชาธรณีวิทยา ซึ่งดำริจะเปิดใหม่พลอยฟ้าพลอยฝนกับเขาไปด้วยแต่ก็เป็นฝนหลงฤดู ไม่ค่อยชุ่มฉ่ำได้เท่าที่ควร เราได้รับความช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษา 2 ทุน ซึ่งคณะฯได้จัดส่ง อาจารย์ธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์ จากแผนกวิชาคณิตศาสตร์ และ อาจารย์ สุภาพ ภู่ประเสริฐ จากแผนกวิชาฟิสิกส์ ไปศึกษาถึงขั้นปริญญาโททางธรณีวิทยาที่สหรัฐอเมริกา นอกจากทุนเล่าเรียนแล้ว ก็ได้ความช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์การสอนและปฏิบัติการ รวมตำราด้วย ศาสตราจารย์ ดร. แถบ ได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้ทำรายชื่ออุปกรณ์ตลอดจนตำราทั้งหมด ซึ่งอุปกรณ์ตำราเหล่านี้จะมีตรา “จับมือ” อันจะหาดูได้แม้กระทั้งเวลานี้ วงเงินที่ให้เท่าที่ผู้เขียนจำได้มีเพียงไม่กี่แสนบาทแต่อย่างไรก็ตามยังดีกว่าไม่ได้เลย เป็นที่น่าเสียดายที่เรา “มาทีหลัง ” มิฉะนั้นแล้วเราอาจจะได้รับความช่วยเหลือเป็นกอบเป็นกำอย่างเช่นภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับจากต่างประเทศก็เป็นได้ “ชีวิต คือความพอดี” อย่างว่า


              ทีนี้จะวกมาถึงเรื่องบุคลากรบ้าง นอกจากศาสตราจารย์ ดร. แถบ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแล้วก็มีอีกผู้หนึ่งที่ได้มีบทบาทสำคัญในแผนกวิชาธรรีวิทยา ตั้งแต่ 2502 เป็นต้นไป ผู้นี้คือ Prof. Klompe ซึ่งได้เข้ามาทำงานจริงๆ ในปีการศึกษา 2502 (ธรณีวิทยารุ่น 2) แต่ในระยะปี 2500 – 2501 (ธรณีฯรุ่น 1) ผู้เขียนต้องรับมือแต่ผู้เดียวทางด้านวิชาการ โดยไม่มีผู้ช่วย เลยแม้แต่คนเดียว ภาระทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ เต็มตัว ความจริง Prof. Klompe ชาวดัทช์ที่เคยสอนอยู่บันตุง อินโดนิเซีย ได้เคยเข้ามาประชุม Pacific Science Congress ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2500 ที่จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย และโดยการแนะนำของอาจารย์วิชา (ตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี) และอาจารย์สมาน (ตอนนั้นเป็นหัวหน้ากองธรณีวิทยา) จึงได้รู้จักกับ ศาสตราจารย์ ดร.แถบ , Prof. Klompe สนใจมาอยู่เมืองไทย หลังจากหมดสัญญาบันดุง ในปี 2502 แล้ว ในปี 2501 ได้เข้ามาตกลงเรื่องสัญญาได้ไปเยี่ยมที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนได้สอนนิสิตธรณีฯ รุ่น 1 ทุกวิชา ไม่ว่าปาฐกถา และปฏิบัติการตลอดปีการศึกษา 2501 ทั้งนี้เพราะแผนกวิชาธรณีวิทยา (ความจริงยังไม่เปิดเป็นทางการจนถึงเดือนกรกฎาคม 2502 ) ยังไม่มีสถานที่และอุปกรณ์การสอนและปฏิบัติการเป็นของตนเองเลย อุปกรณ์การสอนและปฏิบัติการตลอดจนตำราที่ได้รับความช่วยเหลือก็ยังมาไม่ถึงจนกระทั้งปี 2502 ความจริงถ้าไม่เป็นเพราะคำขอร้องของ ศาสตราจารย์ ดร.แถบ ให้ช่วยรับมือไว้สัก 1 ปี จนกว่ากำลังหนุนจะมาเสริมในปีต่อไป และการถูกเซ้าซี้จากนิสิตคณะวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง (ผู้เขียนจำไม่ได้แล้วว่าใครบ้าง) มีทั้งชายและหญิง ซึ่งอุตส่าห์ไปหาถึงที่บ้านขอให้เปิด เมื่อถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ยอมเปิดสอนอยู่อีกก็คงได้รับสมญานามว่า “คนใจหิน” คนแน่แท้ เป็นอันลงเอยว่ารับนิสิตธรณีฯ รุ่น 1 เข้าเรียนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2501 แม้จะยังไม่มีแผนกวิชาฯ เป็นทางการก็ตาม


              ก่อนจบขอกล่าวถึง Prof. Klompe อีกสักเล็กน้อย ความจริงเขาล่วงลับไปนานร่วม 20 ปีแล้ว ตอนที่เขาจากเมืองไทยไปนั้น (ราวปี 2504 หรือ 2506) ผู้เขียนกลับไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 (2504) เพื่อทำการวิจัยเรื่อง น้ำมันที่ได้รับรางวัลไปเมื่อเร็วๆนี้ หลังจากนั้นก็ได้ข่าวว่า Prof. Klompe ไปอยู่ University of Malaya และชีวิตที่นั้น พูดไปตามความเป็นจริงแล้ว เขาก็ได้ทุ่มเทให้แก่แผนกวิชาธรณีวิทยามากสมคมควรจะให้เครดิตเขา หากไม่ติดขัดเรื่องมนุษย์สัมพันธุ์ของเขา ผู้เขียนก็คงจะย้ายมาอยู่ คณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 2509 แล้วตามคำขอร้องของศาสตราจารย์ ดร .แถบ แต่นั้นแหละพรหมลิขิตก็หักเหให้ต้องเดินไปอยู่สหรัฐอเมริกาเสีย 2 ปี ได้กลับมาอยู่แผนกวิชาธรณีวิทยาอย่างแท้จริงก็เมื่อปี 2509 ประวัติของภาควิชาฯในตอนต้นๆ ซึ้งมีประวัติการทำงานของผู้เขียนเขาไปปะปนอยู่ไว้ไม่น้อยก็จบลงด้วยประการฉะนี้ ก่อนอำลาผู้เขียนของฝากรูปถ่ายของนิสิตธรณีรุ่น 1 และ 2 ซึ่งอายุกว่า 20 ปี แล้วมาเป็นกำนัลแก่ผู้อ่านด้วย บุคลในภาพนั้นมีทั้งนายธนาคารใหญ่ ผู้อำนวยการของรัฐวิสาหกิจ นายแพทย์ผู้อำนวยการ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิต ฯลฯ เป็นใครกันบ้างดูเอาเองก็แล้วกัน แต่ที่ไม่มีพลาดก็คือตัวผู้เขียนเองที่ยังเป็นอาจารย์อยู่จนกระทั้งจนทุกวันนี้และคิดว่าจะเป็นไปจนจบเกมชีวิตนั้นแหละ พรหมลิขิตไว้อย่างนี้นี้หนา ไม่ถึงกับถูกเรียกว่า “ปู่” ก็นับว่าดีถมไปแล้ว