•   

นกโบราณแรกเกิดที่สมบูรณ์ที่สุดในอำพันพม่าอายุกว่า 100 ล้านปี

อำพันในประเทศพม่าเปิดเผยให้เห็นรายละเอียดของขนนก เนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษาซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ดีเยี่ยมอย่างนกที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างปีกของพวกนก "Enantiornithine" วัยเยาว์ หรือจะเป็นหางไดโนเสาร์ซีลูโรซอร์ที่เผยแพร่ออกไปเมื่อไม่นานมานี้

ล่าสุดนี้ทีมนักบรรพชีวินวิทยาได้บรรยายการค้นพบที่น่าอัศจรรย์ของซากดึกดำบรรพ์นกโบราณที่อาศัยร่วมยุคกับไดโนเสาร์ (ยุคครีเตเชียสหรือประมาณ 99 ล้านปีที่ผ่านมา) ที่สมบูรณ์กว่าครึ่งตัว โดยซากที่ค้นพบภายในอำพันนี้ประกอบไปด้วยส่วนของหัวกะโหลก คอ เท้า และปีก ที่เป็นของตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่ของนกในเชื้อสาย "Enantiornithes" เนื้อเยื่ออ่อนนุ่มที่ถูกเก็บรักษาไว้นั้นจึงเปิดโอกาสให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถที่จะสังเกตเห็นส่วนของใบหู เปลือกตา และส่วนที่เป็นเกล็ดหนาบนหน้าแข้งของนก อำพันชิ้นใหม่ที่ค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นถึงขนนกและส่วนที่ปกคลุมร่างกายของนกแรกเกิด การจัดเรียงของขนและวิธีการที่ขนถูกปลูกฝังลงในผิว (pterylosis) ของพวกมัน โครงสร้างจุลภาคของขนนก และรูปแบบของเม็ดสีในขนนกโบราณ

ถึงนกแรกเกิดนี้ถูกห่อหุ้มด้วยยางสนในขณะที่ขนนกได้กำลังเริ่มพัฒนาขึ้นในระยะแรกสุด แต่ก็ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในรายละเอียดของกายวิภาคของนกวัยเยาว์เมื่อเปรียบเทียบกับซากดึกดำบรรพ์ของนกโตเต็มวัยที่ค้นพบในอำพันชิ้นอื่นๆ การปรากฏของลักษณะขนที่เท้า ขา และหาง บ่งบอกว่าการพัฒนาของขนในขั้นเริ่มต้นของนก "Enantiornithes" เป็นแบบคอนทัวร์ (contour feathers) มากกว่าที่จะเป็นแบบขนนาทอลดาวน์ (natal down) เหมือนที่พบในพวกนกในปัจจุบัน นอกจากนั้นขนนกโบราณนี้ยังมีลักษณะของเส้นใยที่ปรากฏคล้ายคลึงกับการปรากฏของขนแรกเริ่มของไดโนเสาร์เทอโรพอด

สรุปแล้วอำพันชิ้นใหม่นี้ทำให้เราเข้าใจกายวิภาคของนกวัยเยาว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งนกโบราณนี้ถือเป็นเชื้อส่ายก่อนหน้าที่จะปรากฏนกในปัจจุบันขึ้นมาและทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนในการพัฒนาอย่างรวดเร็วของลักษณะสัณฐานวิทยาที่แตกต่างจากพวกนก "Neornithes" (อีกเชื้อสาย) นั่นเอง